15 ก.ค.2558 ที่ห้องประชุมสโมสรแพนด้าในสวนสัตว์เชียงใหม่ นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผอ.องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยนายนิพนธ์ วิชัยรัตน์ รักษาการ ผอ.สวนสัตว์เชียงใหม่และน.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์หัวหน้าโครงการวิจัยและจัดแสดงแพนด้าในประเทศไทย สวนสัตว์เชียงใหม่ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการตรวจสุขภาพและผสมเทียมหมีแพนด้ายักษ์
นายเบญจพลเผยว่า โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าใน ประเทศไทย สวนสัตว์เชียงใหม่ ได้รายงานให้ทราบว่า หมีแพนด้าหลินฮุ่ย ปัจจุบัน อายุ 13 ปี 10 เดือน น้ำหนัก 122.5 กิโลกรัม ได้แสดงพฤติกรรม การเป็นสัด ตามธรรมชาติ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2558 ซึ่งพฤติกรรมการเป็นสัดของหลินฮุ่ย ยังไม่ชัดเจน แต่สามารถสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของหลินฮุ่ย พบว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเดินกระวนกระวาย มีการป้ายกลิ่นด้วยปัสสาวะ ส่งเสียงร้องแพะ และเสียงที่พบได้ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เท่านั้น ทางคณะทำงานโครงการวิจัยฯ ได้ตรวจระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน จากปัสสาวะของหลินฮุ่ย เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ พบว่าระดับ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของรังไข่และทำให้เกิดพฤติกรรมการเป็นสัด เริ่มเพิ่มสูงขึ้น พบว่ามีความเข้มข้นสูงสุดในเช้าของวันที่ 21 มิ.ย. 2558
ทั้งนี้ คณะทำงาน โครงการวิจัยฯ ได้เก็บตัวอย่างจากปัสสาวะของหลินฮุ่ย เพื่อยืนยันระยะความพร้อมของการผสมพันธุ์ ซึ่งสอดคล้องกับทั้งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและพฤติกรรม และลงความเห็นว่า หลินฮุ่ยเป็นสัดตาม ธรรมชาติและน่าจะมีการตกไข่ในวันที่ 21 มิ.ย. 2558 ที่ผ่านมา
คณะทำงานโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย สวนสัตว์เชียงใหม่ ได้ติดต่อสอบถามและร่วมปรึกษาหารือถึงแนวทางการดำเนินการ ผสมพันธุ์หมีแพนด้ายักษ์ กับ นสพ. ดร.ถัง ชุนเซียง ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีน โดย ดร.ถังฯ ได้แนะนำให้ คณะทำงานฯ ให้โอกาส ช่วง ช่วง และหลินฮุ่ย ได้พบกันและสังเกตพฤติกรรมของหมีแพนด้าทั้งสอง เป็นระยะๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ ช่วง ช่วง ได้เรียนรู้พฤติกรรมของหลินฮุ่ยใน ช่วงเป็นสัด และเพื่อสังเกตว่า ช่วง ช่วง มีปฏิกิริยาอย่างไร มีความสนใจในหลินฮุ่ยหรือไม่ อีกทั้งเป็นการทดสอบว่าหลินฮุ่ย มี ความพร้อมในการผสมพันธุ์เพียงใด
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า หลินฮุ่ยยังมีอาการปฏิเสธ ช่วง ช่วง บ้าง โดยแสดง อาการส่งเสียงขู่ แต่ช่วงบ่ายมีการยอมรับ ช่วง ช่วง มากขึ้น แต่การผสมพันธุ์ไม่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยทีมวิจัยฮอร์โมนหมีแพนด้าได้สรุปผลฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน คาดว่าหลินฮุ่ยน่าจะมีการตกไข่แล้ว ตรงกับคำแนะนำของ Dr.Janine Brown ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมน จากสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institution) ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ทำการผสมเทียมทันที หลังพบการตกไข่ประมาณ 20 ชั่วโมง หากนับจากพบระดับเอสโตรเจนสูงสุด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รวดเร็วและเหมาะสมมากคือช่วงเวลา 24-36 ชั่วโมง หลังจากพบเอสโตรเจนสูงสุด
ทาง คณะทำงานฯ จึงได้ตัดสินใจลงมือผสมเทียมในช่วงเวลา 23.00 น. กลางคืนของวันที่ 21 มิ.ย. โดยเริ่มวางยาสลบเก็บน้ำเชื้อ ช่วง ช่วง ได้น้ำเชื้อสดคุณภาพดี และได้ทำผสมเทียมให้กับหลินฮุ่ย โดยใช้น้ำเชื้อสดที่เก็บได้ในวันนั้น พร้อมตรวจสุขภาพทั้งช่วง ช่วง และหลินฮุ่ย ปรากฎว่าสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ดี
การดำเนินงานในช่วงกลางคืน สิ้นสุดกระบวนการในเวลา 02.00 น. ถือเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่สุดสำหรับการผสมพันธุ์หมีแพนด้ายักษ์ และเป็นไปอย่างเรียบร้อยสมบูรณ์ การวางยาสลบและการฟื้น ของ ช่วง ช่วง และหลินฮุ่ย ได้รับการดูแลจากทีมสัตวแพทย์และทีมพี่เลี้ยงเป็นอย่างดี ภายใต้การดูแล ของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์
โดย องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะทำหน้าที่ดูแลสุขภาพ ของ ช่วง ช่วง และหลินฮุ่ย ซึ่งได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลจีน ให้อยู่ต่ออีก 10 ปี อย่างดีที่สุด โดยจะจัดทำโปรแกรมการส่งเสริม พฤติกรรม และนำต้นไม้สาหรับการฝึกปีนป่าย ให้ แพนด้าได้ออกกำลังกาย มาเสริมในส่วนจัดแสดง อีกทั้งจะเตรียมแผนการจัดการพื้นที่หากแม่หลินฮุ่ยได้ ให้กำเนิดน้องของหลินปิงในปีนี้ ต่อไป